4Cs หลักสากลในการดูเพชร

4Cs คือ หลักการประเมินคุณภาพเพชรทุกชนิด ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ตามมาตรฐานของสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา หรือ Gemological Institute of America (GIA) โดยวัดจากขนาด (วัดเป็นหน่วยกะรัต – Carat), น้ำ (สีของเพชร – Color), ความสะอาด (ปริมาณตำหนิบนเพชร – Clarity) และการเจียระไน (Cut)

อ่านเพิ่มเติม เทคนิคซื้อเพชร : เลือกซื้อเพชรใบเซอร์ไหนดี? GIA หรือ HRD

น้ำหนักเพชร (Carat)

กะรัต เป็นหน่วยวัดน้ำหนักของเพชร เท่ากับ 200 มิลลิกรัม
แต่ละกะรัตสามารถแบ่งเป็น 100 ตังค์ บางครั้งผู้ค้าเพชรอาจระบุน้ำหนักเพชรต่ำกว่า 1 กะรัตโดยใช้หน่วยตังค์ อย่างเช่น เพชรที่มีน้ำหนัก 0.25 กะรัต มีค่าเท่ากับ 25 ตังค์ ส่วนเพชรที่น้ำหนักมากกว่า 1 กะรัต อาจระบุทั้งกะรัตและเลขทศนิยม เช่น เพชร 1.08 กะรัต เป็นต้น

แน่นอนว่า ราคาเพชรเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักกะรัต เนื่องจากเพชรที่มีขนาดใหญ่นั้นหายากและเป็นที่ต้องการในหมู่ผู้ซื้อขายเพชร แต่เพชร 2 เม็ดที่มีน้ำหนักกะรัตเท่ากันอาจมีมูลค่าและราคาต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับปัจจัยอีก 3 ประการของ 4Cs ได้แก่ ความสะอาด น้ำ และการเจียระไน โปรดจำไว้ว่ามูลค่าของเพชรนั้น จะต้องพิจารณาองค์ประกอบ 4Cs ให้ครบถ้วน ไม่ใช่น้ำหนักกะรัตเพียงอย่างเดียว

หมายเหตุ: เพชรในภาพใช้สำหรับอ้างอิงเท่านั้น ขนาดกะรัตอาจเปลี่ยนแปลงตามขนาดจอภาพที่ใช้งาน

สีของเพชร (Color)

การประเมินสี หรือน้ำของเพชรส่วนใหญ่วัดจากความไม่มีสีในตัวเพชร โดยเพชรที่มีความสมบูรณ์แบบที่สุดจะต้องขาวใสบริสุทธิ์ และโครงสร้างเหลี่ยมมุมต้องลงตัว ดังเช่นรูปทรงเพชร ยิ่งมีลักษณะกลมมากเท่าไร มูลค่าจะสูงกว่าเพชรชนิดอื่น ๆ สำหรับระบบการวัดสีของเพชร จะเรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษตั้งแต่ D-Z โดยใช้แสงไฟที่มีการควบคุมการมองเห็นที่แม่นยำในการตรวจดูเพชร พร้อมเปรียบเทียบกับเพชรตัวอย่าง (Master Stone) ในเกรดต่าง ๆ ซึ่งเพชรตัวอย่างเหล่านี้ได้รับการรับรองจากทางห้องแล็บมาแล้ว

ทั้งนี้ ระบบการให้เกรดสีของเพชรแบบ D-Z เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดในแวดวงอุตสาหกรรมเพชร โดยเพชรเกรด D จะไม่มีสีใดเจือปน ถือว่าเป็นเกรดของเพชรที่สูงที่สุด ส่วนเพชรที่มีเกรดต่ำลงมาตามลำดับจะเริ่มเผยให้เห็นสีมากขึ้น จนถึงเกรด Z ซึ่งถือว่าเป็นเกรดที่ต่ำที่สุด

เฉดสีของเพชรมีความละเอียดยิบย่อยมาก ถ้าไม่เคยฝึกสังเกตเพชรมาก่อนจะแยกความแตกต่างของสีเพชรไม่ออก อย่างไรก็ตาม เฉดสีแม้ห่างกันเบอร์เดียว คุณภาพและราคาของเพชรอาจแตกต่างกันราวฟ้ากับเหวเลยก็ได้

ความสะอาดของเพชร (Clarity)

เพชรธรรมชาติเกิดจากธาตุคาร์บอนที่ได้ความร้อนและแรงดันใต้ผิวโลกอย่างมหาศาลบีบอัดจนเปลี่ยนโครงสร้าง ซึ่งกระบวนการนี้อาจส่งผลให้เกิดลักษณะภายในที่หลากหลาย เรียกว่า ตำหนิภายใน (inclusion) และลักษณะภายนอกที่เรียกว่า ตำหนิภายนอก หรือ มลทิน (blemish)

ความสะอาดของเพชร วัดจากลักษณะของตำหนิ จำนวน ขนาด ความคมชัด และตำแหน่งภายในเพชร แล้วดูว่าตำหนิเหล่านี้ส่งผลต่อภาพรวมของเพชรมากน้อยแค่ไหน ยิ่งเพชรมีตำหนิน้อยเท่าไร ราคายิ่งสูงขึ้นเท่านั้น สถาบัน GIA จึงแบ่งเกณฑ์การวัดสะอาดของเพชรเป็น 6 ประเภท ซึ่งแบ่งอย่างละเอียดลงไปอีกถึง 11 เกรด ได้แก่

FL (Flawless)
ไม่มีตำหนิทั้งภายนอกและภายในเมื่อมองเห็นจากกล้องกำลังขยาย 10 เท่า

IF (Internally Flawless)
ไม่มีตำหนิภายใน แต่มีตำหนิภายนอกเมื่อมองเห็นจากกล้องกำลังขยาย 10 เท่า

VVS1-VVS2 (Very, Very Slightly Included)
มีรอยตำหนิภายในเล็กน้อย ซึ่งแทบมองไม่เห็นหรือสังเกตได้ยากมาก เมื่อมองด้วยกล้องกำลังขยาย 10 เท่า

VS1-VS2 (Very Slightly Included)
มีรอยตำหนิเล็กน้อย ซึ่งสังเกตได้ยากหรืออาจมองเห็นได้บ้าง เมื่อมองด้วยกล้องกำลังขยาย 10 เท่า

SI1-SI2 (Slightly Included)
มองเห็นรอยตำหนิได้ง่ายถึงง่ายมาก เมื่อมองด้วยกล้องกำลังขยาย 10 เท่า

I1-I3 (Included)
มองเห็นรอยตำหนิภายในอย่างเห็นได้ชัด เมื่อมองด้วยกล้องกำลังขยาย 10 เท่า และอาจส่งผลต่อความโปร่งใสและความเป็นประกาย

การเจียระไนเพชร (Cut)

ดีไซน์และการเจียระไนของช่างเพชร จะดูจากปัจจัยดังต่อไปนี้ ได้แก่ 1) สัดส่วนของเพชร โดยที่น้ำหนักของเพชรจะสัมพันธ์กับเส้นผ่านศูนย์กลางของเพชร 2) ความหนาของขอบเพชร (girdle) ซึ่งมีผลต่อความคงทนของเพชร 3) สมมาตรของลำดับเหลี่ยมเพชร และ 4) คุณภาพการเจียระไน

หลายคนมักสับสนระหว่างการเจียระไนกับรูปร่างของเพชร แท้จริงแล้วการเจียระไนหมายถึงการวางลำดับของเหลี่ยมเพชร กล่าวคือ รูปร่างของเพชรหมายถึงโครงร่างภายนอกของเพชร โดยรูปร่างเพชรที่นิยมมากที่สุดคือ เพชรกลม (Round Brilliant Cut) อันเป็นมาตรฐานการเจียระไนที่ยอดเยี่ยม ส่วนรูปร่างแบบอื่น ถือว่าเป็นรูปทรงแฟนซี อาทิ Marquise Pear Oval และทรงแปดเหลี่ยมที่มักพบในเพชรที่เจียระไนแบบมรกต ขณะที่แบบ Square และ Cushion (ทรง Square ขอบมน) Triangle รวมถึงรูปร่างอื่น ๆ ก็ยังได้รับความนิยมไม่แพ้กัน